อย.ไฟเขียวขายยาปลุกนกเขา ผ่านร้านขายยา คุมเข้มบริษัทจัดจำหน่าย ต้องมีใบสั่งแพทย์ ต้องรายงานให้ทราบ ต้องได้รับความเห็นชอบก่อนการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หวั่นรั่วไหล ...
วันนี้ (12 ต.ค.) นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในการควบคุมดูแล การกระจายยากลุ่มที่ใช้ในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยากลุ่มยับยั้งสารฟอสโฟไดเอสเทอเรส-5 (Phosphodiesterase 5 Inhibitor) กับ บริษัท ผู้ผลิต / นำเข้า และจำหน่ายยาในกลุ่ม มีด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ 1. ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งมีผู้ผลิต/ นำเข้า 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไฟเซอร์(ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้ชื่อการค้า ไวอะกร้า (Viagra®) บริษัท ที.โอ.เคมีคอลส์ (1979) จำกัด ภายใต้ชื่อการค้าโทนาฟิล(Tonafil®) บริษัท ยูนีซัน จำกัด ร่วมกับ บริษัท เมดไลน์ จำกัด ภายใต้ชื่อการค้า อีลอนซา (Elonza®) 2. ยาวาเดนาฟิล(Vadenafil) ซึ่งมีผู้นำเข้า 1 ราย ได้แก่ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ภายใต้ชื่อการค้า เลวิตรา (Levitra®) 3. ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) ซึ่งมีผู้นำเข้า 1 ราย ได้แก่ บริษัท อีไล ลิลลี่ เอเชีย อิงค์ (สาขาประเทศไทย) ภายใต้ชื่อการค้า ซีอาลิส(Cialis®) เพื่อเป็นการกำหนดกรอบความร่วมมือและความรับผิดชอบของผู้รับอนุญาตที่ให้ไว้ กับ อย. ในการดำเนินการร่วมกัน
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่ อย.อนุญาตให้มีการจำหน่ายยาในกลุ่มที่ใช้ในการรักษาภาวะหย่อน สมรรถภาพ ทางเพศ ยากลุ่มยับยั้งสารฟอสโฟไดเอสเทอเรส-5 ในร้านขายยาได้ บริษัทฯ จะต้อง ควบคุมไม่ให้มีการรั่วไหลของยาออกนอกช่องทางการจำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดให้จำหน่ายในร้านขายยาที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในบันทึกความเข้าใจ โดยต้องมีใบสั่งแพทย์ และจะต้องรายงานการขายยากลุ่มดังกล่าวให้ อย. ทราบทุก 4 เดือน ส่วนการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เกี่ยวข้องกับยากลุ่มนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจาก อย.ก่อน
ทั้งนี้ เลขาธิการ อย. กล่าวด้วยว่า การลงนามในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของ อย. ที่พยายามขจัดปัญหายาปลอม โดยเฉพาะยาในกลุ่มที่ใช้ในการรักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่นับวันยิ่งทวี ความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการใช้ยาดังกล่าวมี จำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกันยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยา ซึ่งจะต้องไปพบแพทย์และซื้อจากสถานพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงยาจะช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยในการได้รับยา ปลอม ซึ่งอาจส่งผลถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ดี อย. จะกำกับติดตามการดำเนินโครงการนี้อย่างใกล้ชิดโดยจะมีการทบทวนแผนการดำเนิน การอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน และจะดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างจริงจังต่อไป
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์