ยึดเครื่องดื่มปลอมเลขสารบบอาหารอย. และผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมาย 43,872 กล่อง มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท “จุรินทร์” สั่งอย.ลงพื้นที่ตรวจเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์ตามท้องตลาด หลังพบของปลอมเพียบ ลงโทษหนักทั้งจำและปรับ...
เมื่อเวลา 11.00 น. 22 เม.ย. ที่ห้องประชุม 2 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ร่วมกับพล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมาย
โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปคบ. ได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าผิด กฎหมาย จึงได้ประสานมายังอย. เพื่อไปตรวจสอบสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารตามที่ได้รับร้องเรียน จากนั้นตำรวจ บก.ปคบ.นำหมายค้นศาลอาญาที่ ค.113/2553 ไปตรวจค้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่บริษัท บิ๊กเบนซ์ เฮลท์ โปรดักซ์ จำกัด เลขที่ 203/18 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ซึ่งผลจากการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมายหลายรายการ จึงทำการยึดเพื่อนำไปตรวจสอบและดำเนินคดี
สินค้าดังกล่าวประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายอาหารปลอม 4 รายการ คือ 1. ชามะนาวปรุงสำเร็จผสมคอลลาเจนยี่ห้อ สลิมคัพ 3,472 กล่อง 2. โกโก้มอลต์ สูตรถั่วขาวและกระบองเพชร ยี่ห้อไวท์ เลเบิล 459 กล่อง 3.โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อสลิมคัพ 576 กล่อง และ 4.กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อคิงส์คอฟฟี่พลัส 4,824 กล่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 รายการ มีการปลอมเลขสารบบอาหารของอย. ทั้งยังมีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยแสดงสรรพคุณของส่วนประกอบที่อย.ไม่อนุญาต
ด้านนายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าข่ายเป็นอาหารที่มีฉลากไม่ถูกต้อง โดยระบุสรรพคุณของส่วนประกอบที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดอีก 17 รายการ รวม 39,084 กล่อง รวมผลิตภัณฑ์ที่ยึดมาทั้งหมด 43,872 กล่อง รวมมูลค่ากว่า 9 ล้านบาท และยังพบโปสเตอร์โฆษณาสรรพคุณว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถลดความอ้วนได้ด้วย ทั้งนี้จะส่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ไปตรวจวิเคราะห์เพื่อหาว่ามีสารตามสรรพคุณ ที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวระบุไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีกรณีการปลอมเลขสารบบอาหารของอย.บ่อยมากขึ้น จึงได้สั่งการให้อย.ลงพื้นที่ตรวจเลขสารบบอาหารของอย.ในผลิตภัณฑ์สินค้าตาม ท้องตลาดทั้งหมด และจะแจ้งให้ประชาชนทราบต่อไป
ขณะที่พล.ต.ต.จตุรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมดำเนินคดีกับผู้ผลิตในหลายข้อหา อาทิ 1. ผลิตอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท 2. ผลิตอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 3. โฆษณาสรรพคุณอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ 4. หากผลตรวจวิเคราะห์พบยาลดความอ้วน “ไซบูทามีน” ในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการอย. ขอเตือนผู้บริโภคว่า หากพบผลิตภัณฑ์ใดระบุมีส่วนประกอบของยาไซบูทามีน ไม่ควรซื้อ เพราะยานี้มีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น ซึ่งผลข้างเคียงของการใช้ยานี้ที่พบบ่อยคือ ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็ว มีผู้ป่วยร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์