อย. เผยผลตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อใบหน้า และมีผลข้างเคียงต่อร่างกายอีก 18 รายการ เตือนผู้บริโภคอย่าซื้อมาใช้ เน้นย้ำ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริงที่ฉลาก โดยเฉพาะที่อ้างว่าทำให้หน้าขาว แก้สิว แก้ฝ้า ได้ผลทันที ขอให้ตั้งข้อสงสัยว่าผสมสารห้ามใช้ อาจหน้าพังโดยไม่รู้ตัว
ภญ. วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประกาศผลการตรวจสอบหรือผลวิเคราะห์เครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ให้ประชาชน ทราบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค นั้น ล่าสุดปรากฏผลการตรวจวิเคราะห์เครื่องสำอางที่เก็บจากร้านขายเครื่องสำอางใน ตลาดยิ่งเจริญ เลขที่ 259/99 หมู่ที่ 7 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ จำนวน 4 ร้าน ดังนี้
ร้านที่ 1 ร้านธัญพิมล (เล็ก) ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารประกอบของปรอท โดยไม่ระบุผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิต และวันที่ผลิต จำนวน 3 ยี่ห้อ ได้แก่
1. ครีมสมุนไพรน้ำนมข้าว มายเวย์
2. BEAUTY ครีมน้ำนมข้าว
3. BEAUTY ครีมนมผึ้งผสมโสม
ร้านที่ 2 ร้านดวงธัช ตรวจพบเครื่องสำอางผสมสารประกอบของปรอท จำนวน 6 ยี่ห้อ โดยไม่ระบุเลขที่ผลิต และวันที่ผลิต ได้แก่
1. แอนนาคอสเมติกส์ ครีมทากลางคืน ผลิตโดย ห.จ.ก.แอนนาคอสเมติกส์ 2004 เลขที่ 51 ม.7 อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74110
2. ชิชาเดะ ครีมหน้าขาวโสมผสมไข่มุกญี่ปุ่น ผลิตโดย ชิชาเดะโตเกียวคอร์เปอเรชั่น เลขที่ 548-4212 โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเข้าโดย บริษัท เจ เมด อิมพอร์ต จำกัด
3. Cream Ja Leena เกรด A สูตรพิเศษผสมเซรั่ม ครีมสมุนไพรว่านหางจระเข้ ไม่ระบุผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย
4. Cream Ja Leena เกรด A ครีมสมุนไพรว่านหางจระเข้ ไม่ระบุผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย
5. BABY FACE หน้าเด้ง ปรับสภาพผิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ ไม่ระบุผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย
6. แอนนาคอสเมติกส์ 2004 ผลิตโดย ห.จ.ก. แอนนาคอสเมติกส์ 2004 เลขที่ 51 ม.7 อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74110 ไม่ระบุเลขที่ผลิตและวันที่ผลิตตรวจพบเครื่องสำอางผสมไฮโดรควิโนน
ร้านที่ 3 ร้านอ้วนสมุนไพร พบเครื่องสำอางผสมสารประกอบของปรอทในเครื่องสำอาง จำนวน 3 ยี่ห้อ โดยไม่ระบุเลขที่ผลิต และวันที่ผลิต ได้แก่
1. ชิชาเดะ ครีมหน้าขาวโสมผสมไข่มุกญี่ปุ่น ผลิตโดย ชิชาเดะโตเกียว คอร์เปอเรชั่น 548-4212 โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นำเข้าโดยบริษัท เจ เมด อิมพอร์ต จำกัด
2. ครีมรกแกะผสม คอลลาเจน สูตร Day Cream/SPF 15 ไม่ระบุผู้ผลิต
3. BEAUTY น้ำนมข้าวเกรดเอ 100% ไม่ระบุผู้ผลิต
ร้านที่ 4 ร้านปอนบิวตี้ พบเครื่องสำอางผสมสารประกอบของปรอท จำนวน 5 ยี่ห้อ โดยไม่ระบุผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เลขที่ผลิต และวันที่ผลิต ได้แก่
1. CHARM ALOE ESSENCE (เนื้อครีมสีขาว)
2. CHARM ALOE ESSENCE (เนื้อครีมสีเหลือง)
3. Yumiko ครีมสมุนไพรชาขาว
4. พี-แคร์ ครีม สมุนไพรขิง
5. ผลิตภัณฑ์ในกล่องกระดาษสีเขียว ข้างกล่องระบุข้อความ Hana night cream ใน 1 กล่อง ประกอบด้วย ครีมสีครีม บรรจุในตลับพลาสติกสีขาว ฝาสีฟ้า บนฝามีข้อความว่า Hana night cream และครีมสีขาว บรรจุในตลับพลาสติกสีขาว ฝาสีเขียว บนฝามีข้อความว่า Hana UV cream ระบุ ผู้ผลิต/จำหน่าย เลขที่ 721/19 อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
นอกจากนี้ยังพบเครื่องสำอางยี่ห้อ YANKO Whitening Cream Night Cream YK-883 ไม่ระบุผู้ผลิต เลขที่ผลิต และวันที่ผลิต ผสมกรดเรทิโนอิก และนิว แคร์ ไวท์ไนท์ครีม ผลิตโดย นิวแคร์ บิวตี้ ไม่ระบุเลขที่ผลิต และวันที่ผลิตผสมไฮโดรควิโนนและกรดเรทิโนอิก ซึ่งสารห้ามใช้ที่ตรวจพบในเครื่องสำอางดังกล่าว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้ เช่น สารประกอบของปรอท ทำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบางลง เกิดพิษสะสมของสารปรอท ทำให้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และไตอักเสบ สารไฮโดรควิโนน ทำให้ระคายเคือง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวร รักษาไม่หาย และกรดเรทิโนอิก ทำให้หน้าแดง แสบร้อนรุนแรง เกิดการอักเสบ ผิวหน้าลอกอย่างรุนแรง อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ จึงเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ผู้ผลิต / ผู้นำเข้าและผู้ขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ดังกล่าวนี้ มีความผิดจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเตือนผู้บริโภคว่า อย่าซื้อเครื่องสำอางดังกล่าวมาใช้อย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อใบหน้า และเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ดังนั้นเมื่อจะซื้อเครื่องสำอางต้องระมัดระวัง โดยซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วนได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ที่สำคัญไม่ควรซื้อเพียงเพราะเชื่อคำโฆษณา โดยเฉพาะข้อความโฆษณาที่อ้างว่าทำให้หน้าขาว แก้สิว แก้ฝ้า เห็นผล 100% เพราะเครื่องสำอางดังกล่าวจะผสมสารห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เพื่อหวังผลเร็วแต่เป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ใช้ สำหรับร้านค้าที่ซื้อเครื่องสำอางมาจำหน่ายจะต้องซื้อจากผู้มีหลักแหล่งน่า เชื่อถือ และมีหลักฐานการซื้อขายที่ระบุชื่อและที่ตั้งของผู้ขายอย่างชัดเจน และขออย่าได้นำเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายดังกล่าวมาจำหน่าย หากเจ้าหน้าที่ อย. ตรวจพบจะดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยผู้ขายจะต้องมีความผิดเช่นเดียวกับผู้ผลิต หากผู้ขายรู้ต้นตอแหล่งผลิตให้แจ้งทางราชการทราบโดยด่วน เพื่อจะได้ดำเนินการกวาดล้างเครื่องสำอางอันตรายให้หมดไปจากท้องตลาด
ที่มา : กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค